ก้านพ่นยารั่ว เราซ่อมเองได้, ชีวิตเกษตรกร ของเกษตรกรจำนวนมาก (รวมถึงตัวผมเองด้วย) รายได้ไม่มากนัก และไม่แน่นอน เวลาที่เครื่องไม้เครื่องมือมีปัญหา หากเราซ่อมเอง หรือซ่อมแก้ไขงานเบื้องต้นไม่ได้ มันคือรายจ่าย เมื่อต้องซื้อใหม่ หรือส่งไปร้านซ่อม ดังนั้น เกษตรกรก็ต้องรู้จักเรียนรู้งานช่างบ้าง เพื่อซ่อมแซมเครื่องไม้เครื่องมือของเราเอง อย่างน้อยก็การซ่อมในเบื้องต้นได้ ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มากทีเดียว ถังพ่นยา ก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ ของชาวสวน วันนี้ก็ขอแนะนำวิธี ซ่อมก้านพ่นยารั่ว งานง่ายๆ แค่นี้ ทำเองได้ ไม่ต้องซื้อใหม่

ถังพ่นยาใบที่ใช้อยู่นี้ ใช้มา เกือบ 3 ปีแล้ว เป็นถังพ่นยาแบบโยก (ไม่ได้ซื้อแบบปั๊มพ่นยาในตัว) ซ่อมมาเรื่อยๆ แบบเสียหายตรงไหนก็ดัดแปลง แก้ไข ใช้งานไปได้เรื่อยๆ ยังใช้งานได้อยู่ก็ไม่ซื้อของใหม่ (เอาไว้จะถ่ายภาพปัจจุบันมาให้ดู ว่ารันทดขนาดไหน) เริ่มใช้ตั้งแต่ปลูกทุเรียนใหม่ๆ จนมาตอนนี้ ครบ 2 ปี กับอีก 3 เดือน แล้ว เข้าสู่ปีที่สามแล้ว จนกระทั่งตอนนี้ ถังโยกที่มีอยู่ เริ่มจะฉีดส่งยาได้ไม่สูงพอ ไม่ถึงยอดทุเรียนแล้ว และคงต้องเปลี่ยนในเวลาอีกไม่นาน แต่ตอนนี้ใช้ไปก่อน เพราะยังไม่ได้ตัดสินใจ ว่าจะใช้วิธีไหน ในการพ่นยาให้ กับต้นทุเรียน ในแปลงที่มีเพียงแค่ 50 กว่าต้น ให้ประหยัด และคุ้มค่า

เอ้า วกไปไกล กลับมาที่ก้านพ่นยาก่อน ก้านพ่นยาอันนี้ มีปัญหาบริเวณ เกลียวของก้านบีบเพื่อปลดปล่อยน้ำยา กับข้อต่อเกลียวทองเหลือง มีน้ำหยดอยู่บ่อยๆ น้ำหยดออกมาจากบริเวณเกลียวข้อต่อ ในเวลาที่เราอัดลมเข้าไปในถัง เพื่อให้ลมไปดันน้ำยาออกมาที่ก้านพ่นยา

พยายามหมุนเกลียวทองเหลืองให้แน่นเข้าๆ หมุนยังไงก็ไม่สามารถยับยั้ง หรือหยุดการไหลของน้ำยาได้เลย ลักษณะนี้เดาได้ไม่ยากว่าเป็นที่ซีลยางแน่นอน แต่ทำไมล่ะ แล้วจะแก้ไขกันยังไง? เมื่อแกะชิ้นส่วนออกมาแล้ว แงะซีลยาง หรือประเก็นยางออกมาดู พบว่า ชิ้นส่วนยางที่ใช้งานมานาน เริ่มแข็งตัวแล้ว และมีรอยแตก รอยแยกบางส่วน จึงไม่แปลกใจที่จะมีน้ำรั่วซึมออกมา จะไปหาซื้อของใหม่ก็ได้อยู่ แต่ตอนนี้ยังพ่นยาค้างอยู่เลย ถ้าไม่ซื้อประเก็นยางใหม่ได้ไหม?

ตัวเกลียวของก้านพ่นยา ก็ยังดูดีอยู่ไม่เสียหาย แต่สิ่งที่พอกเกลียวอยู่ อย่างที่เห็นในภาพ มันคือเศษดิน ที่ติดอยู่ ยังไม่ได้ล้างออก มันจิ้มดินตอนพยายามถ่ายภาพนี่แหละ

หลักการง่ายๆ ในเรื่องของท่อน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ท่ออะไร ของเหลวประเภทไหน ก็คือ ทำยังไงก็ได้ ให้น้ำ หรือของเหลวมันอยู่ภายในท่อเท่านั้น ไม่หยดออกมา ตรงบริเวณข้อต่อแบบนี้ ถ้าไม่ใช้ซีลยาง หรือประเก็นยาง ก็ต้องเป็นเทปพันเกลียว (ลองนึกถึงท่อประปาภายในบ้านเรานะครับ ข้อต่อประปา เวลาต่อก๊อกน้ำ เราจะใช้เทปพันเกลียว แต่ต่อสายน้ำดี สายฝักบัวเข้ากับก๊อกน้ำ เราใช้ซีลยาง หรือประเก็นยาง) แต่ในบางกรณีมันก็ใช้แทนกันไม่ได้ (เช่น เกลียวไม่ลึก หรือ ข้อต่อมีลักษณะแยกส่วน) ก็ต้องพิจารณาเป็นงานไป แต่ในงานนี้ ปัญหาของก้านพ่นยานี้ ใช้ได้นะ

ใช้เทปพันเกลียว พันลงไปที่เกลียวพลาสติกของก้านพ่นยา แต่ผมจะพันให้เลยขึ้นมาถึงหน้าแปลน หรือ หน้าตัดของตัวเกลียวด้วย พันเลยเข้าไปแบบนี้ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราตัด เราคว้านออกไปได้ และที่มันเลยเข้าไปแบบนี้ เป็นเพราะคุณลักษณะของเทปพันเกลียว ที่สามารถยืดได้ มันก็เลยออกมาแบบนี้ และสำหรับงานนี้ ไม่มีปัญหา แต่ในงานระบบท่อประปาบ้าน (หรือท่อระบบน้ำในสวน) ไม่ควรพันเทปให้เลยออกนอกเกลียวแบบนี้เด็ดขาด เพราะวัตถุประสงค์ และจุดมุ่งหมายมันต่างกัน

คว้านเอาเทปพันเกลียว ที่เลยเข้าไปด้านในของก้านพ่นยาออกไปบ้าง อย่างที่เห็น แต่ให้หลงเหลือติดที่หน้าแปลนเต็มๆ แบบนี้ ไม่เอาออกหมด เทปพันเกลียวที่เลยเข้าไปในรูเกลียวบ้างจะเป็นไรไป รูขนาดนี้ เหลือเฟือ เมื่อเทียบกลับปลายหัวฉีด ที่เล็กนิดเดียว

่เสร็จแล้วก็สวมเกลียวก้านพ่นยา เกลียวทองเหลืองกลับเข้าไปที่ก้านพ่นยาใหม่ หมุนให้แน่น เพื่อตรวจสอบว่า หมุนได้แน่นหนาขนาดไหน จากนั้นก็ถอดออก

สังเกตุที่เทปพันเกลียว บนเกลียวพลาสติกของก้านพ่นยานะ บริเวณเกลียว จะเห็นเป็นสีดำโผล่มาให้เห็น นั่นก็เพราะการเสียดสีกันของเกลียวพลาสติก กับเกลียวทองเหลือง เป็นเรื่องปกติ (เทปพันเกลียว ทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างระหว่างเกลียวข้อต่อทั้งหมด) แต่ขอให้สังเกตที่หน้าตัด ที่หน้าแปลน มีสีดำๆ โผล่ให้เห็นจางๆ ลางๆ นั่นหมายความว่า เมื่อเราหมุนเกลียวทองเหลืองให้แน่น หน้าแปลนของเกลียวทองเหลือง จะสัมผัสแนบแนนกับหน้าแปลนเกลียวพลาสติกได้พอดี และค่อนข้างเรียบเสมอกัน (ลืมบอกไปว่า ซีลยาง ถูกถอดทิ้งไปแล้ว ไม่ใช้งานแล้ว เทปพันเกลียวที่เกินเลยมาอยู่บนหน้าแปลน ทำหน้าที่แทนซีลยางเรียบร้อยสมบูรณ์ ท่อแรงดันต่ำ แบบถังโยกแบบนี้ ใช้แค่นี้ก็เพียงพอ)

พิจารณาเห็นดังนี้แล้วก็พันเกลียวเข้าไปเพิ่มอีก 3-4 รอบ โดยไม่ลืมเน้นที่หน้าแปลนด้วย จากนั้นก็คว้านเอาเศษที่ปกคลุมรูด้านในของเกลียวออกเหมือนเดิม ก่อนขันเกลียวทองเหลือง เข้ากับตัวด้ามเกลียวพลาสติก ก็เป็นอันเรียบร้อย เรากักน้ำให้อยู่ในท่อได้สำเร็จแล้ว ไม่มีน้ำรั่วซึมออกมาอีกเลย จบงาน ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม เพราะเทปพันเกลียวมีอยู่แล้ว แค่นี้เราก็ใช้งานก้านพ่นยาของเราต่อไปได้อีกนาน