สาเหตุที่ทำให้น้ำเสีย ในร่องสวน เพราะหญ้าตาย หรือ เศษวัสดุ หมักหมม ไม่ได้ถูกเอาออกจากน้ำ จนหญ้าตายเริ่มย่อยสลายจากจุลินทรีย์ ซึ่งตามปกติในน้ำ จะต้องมีจุลินทรีย์ที่ดีๆ ไม่เกิดกลิ่นเหม็น มากกว่าจุลินทรีย์ที่ไม่ดี แต่เมื่ออาหารมันมีมากจนล้น จุลินทรีย์ไม่ดี กินอาหารมาก ขยายตัวมากๆ จนเกิดความไม่สมดุลย์ น้ำจึงเกิดการเน่าเสีย

ปัญหามันเริ่มมาจากหญ้าที่ปกคลุมผิวน้ำจนหนาแน่น หญ้าใหม่ๆ จะค่อยๆ เลื้อยขึ้นมาข้างบน และหญ้าเก่าๆ จะถูกกดลงด้านล่าง เมื่อหญ้าด้านล่าง ถูกกดทับเอาไว้ใต้น้ำ ไม่โดนแสงแดด เติบโตไม่ได้ ในที่สุดมันก็จะตาย และเริ่มเน่าเปื่อย เพราะจุลินทรีย์เข้ามาย่อยสลาย แต่สภาพที่หญ้าที่ขึ้นแน่นในร่องสวน ทำให้อากาศ ลงไปสัมผัสกับผิวน้ำไม่ได้ ถ่ายเทอ๊อกซิเจนไม่ได้ เพราะผิวน้ำเต็มไปด้วยหญ้าที่หนาแน่น ทำให้น้ำเริ่มเน่าเสีย เพราะจุลินทรีย์ดีๆ ส่วนมากต้องการอากาศด้วย

น้ำที่เริ่มจะเน่าเสีย อาจจะสังเกตได้ว่ามีคราบน้ำมันปรากฏบนผิวน้ำ เมื่อผิวน้ำเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน อ๊อกซิเจน กับอากาศไม่สามารถลงมาสัมผัสกับผิวน้ำได้ ไม่เกิดการถ่ายเท ไม่เกิดอ๊อกซิเจน เมื่อน้ำขาดอ๊อกซิเจน จุลินทรีย์ดีๆ ก็ขาดอากาศหายใจ ก็ค่อยๆ ลดจำนวนลง ในขณะที่ จุลินทรีย์ไม่ดีส่วนมากจะไม่พึ่งพาอากาศ หรืออ๊อกซิเจน ก็เพิ่มจำนวนขึ้นแทนที่ น้ำก็จะยิ่งเน่าเสียเร็วขึ้นๆ ไปอีก

อยากจะแก้ปัญหา ก็ต้องเริ่มจากต้นตอของปัญหาก่อน เริ่มด้วยการกำจัดหญ้าที่ลอยบนผิวน้ำออกให้หมด เพราะหญ้าด้านบนที่มองเห็นมันจะเป็นสีเขียว แต่เมือเราพลิกแพหญ้านิดเดียวก็จะพบว่า ด้านล่างนั้น เหลือง และกำลังเน่าแล้วจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์ การกำจัดหญ้าออก เท่ากับการกำจัดอาหารของจุลินทรีย์ด้วย และเป็นการเปิดผิวน้ำ ให้อากาศลงมาเติมเต็มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำได้ (ถ้าใช้ปั๊มเติมอากาศได้ก็จะดีกว่า) แต่เบื้องต้น แค่เปิดผิวน้ำให้โล่ง ก็ช่วยได้ในระดับนึงแล้ว

การดึงหญ้า แพหญ้าออกจากร่องน้ำ ร่องสวน ผมใช้ด้ามต่ออเนกประสงค์ ที่ซ่อมมาแล้ว ด้ามต่ออเนกประสงค์ ไม้ยืดหดได้ ล็อคไม่อยู่ ซ่อมได้ มาเกี่ยวหญ้าในร่องน้ำ ความจริงแล้ว รอบๆ สระน้ำก็ใช้เจ้าเคียวเกี่ยวข้าวนี่แหละ ใช้งานได้ดีพอสมควรทีเดียว ค่อยๆ ทำไป เพราะทิ้งสะสมเอาไว้นาน เนื่องจากไม่เคยมีปัญหา เพราะน้ำในร่อง เป็นน้ำเปรี้ยวตลอด นำมารดน้ำต้นไม้ไม่ได้ แต่พอน้ำเริ่มดีขึ้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป หญ้าเติบโตเร็ว และสร้างปัญหาจนได้

ลอกเอาหญ้าออกจากผิวน้ำแล้ว ก็อย่าลืมที่จะต้องเติมจุลินทรีย์ดีๆ ให้กับน้ำด้วย เพราะตอนนี้สภาพของน้ำ ไม่สมดุลย์ ต้องเติมจุลินทรีย์ดีๆ กลับไปให้น้ำด้วย ซึ่งผมเลือกที่จะเติม EM แบบน้ำ เพราะสภาพของพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องเขวี้ยงอะไร ไปไกลๆ แค่สาดน้ำ ก็ทำได้ง่ายๆ ดังนั้นจึงเลือกใช้ EM แบบน้ำ แล้วยังไม่ต้องคอยลุ้นถึงคุณภาพของก้อน EM ball ด้วย เพราะถ้าเน้นซื้อถูกๆ คุณภาพไม่ดี แทนที่จะแก้ปัญหา จะกลายเป็นการเพิ่มอาหารให้น้ำเน่าเสียเพิ่มขึ้นไปอีก สำหรับผม EM น้ำ ใช้งานง่ายกว่า

หลังจากลอกหญ้าออกแล้ว ก็ใช้ปั๊มน้ำ ปั๊มจุ่มตัวเล็กๆ ซ่อม Bilge Pump 1100GPH ปั๊มน้ำท้องเรือ เสร็จแล้วต้องทดสอบ มาต่อเอาไว้ในร่องน้ำ ร่องสวนที่มีปัญหานี้ เพื่อเติมอากาศให้กับน้ำ หลังจากน้ำในสระเล็กๆ ที่ทำมาแล้ว จนน้ำมีคุณภาพที่ดีขึ้น ก็นำมาต่อเพื่อเติมอ๊อกซิเจนให้กับร่องน้ำ ร่องสวนนี้ต่อเลย ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวน้ำก็ดีขึ้น